การรักษาโรคเหงือก


รู้จักโรคเหงือก

       เหงือก เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะปริทันต์ที่ทำหน้าที่ยึดฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร และรองรับแรงในการบดเคี้ยว เหงือกปกติจะมีสีชมพู ขอบเรียบ ไม่บวม ไม่มีเลือดออก โรคเหงือกอักเสบ เป็นโรคที่เกิดขึ้นในประชากรถึงร้อยละ 80 โดยมักจะไม่มีอาการ ลักษณะของโรคเหงือกอักเสบคือ เหงือกมีสีแดง อาจจะมีลักษณะบวมเล็กน้อย และสิ่งที่จะใช้สังเกตได้ง่ายคือ “การมีเลือดออกขณะแปรงฟัน”  ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเกิดจากการแปรงฟันแรงหรือใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป

 

สาเหตุโรคเหงือกอักเสบ

      สาเหตุของโรคเหงือกอักเสบคือ “คราบจุลินทรีย์” ซึ่งเกิดจากการสะสมของเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในน้ำลายลงบนตัวฟัน ลักษณะของคราบจุลินทรีย์เป็นคราบสีขาวอ่อนนุ่ม เมื่อมีปริมาณน้อยมักจะมองไม่เห็นเนื่องจากมีสีกลืนไปกับตัวฟัน หากคราบจุลินทรีย์ถูกทิ้งไว้นานจะเกิดการสะสมแร่ธาตุเกิดเป็น “หินน้ำลายหรือหินปูน”  ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการสะสมของคราบจุลินทรีย์มากขึ้น  เชื้อโรคที่เกาะบนหินน้ำลายนี้จะผลิตสารพิษ ทำให้ร่างกายมีการตอบสนองจนเกิดการอักเสบของเหงือกขึ้น โรคเหงือกอักเสบหากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ในผู้ป่วยบางรายจะกลายเป็น “โรคปริทันต์อักเสบ” (สมัยก่อนเรียกโรครำมะนาด)  ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่ 

                                                                            

อาการโรคเหงือกอักเสบ

  • มีเลือดออกขณะแปรงฟัน หรือตอนใช้ไหมขัดฟัน
  • เหงือกแดง และบวมหรือนุ่ม
  • ฟันดูยาวขึ้น เนื่องจากเหงือกร่น
  • เหงือกไม่ติดอยู่กับฟัน เหมือนมีร่อง
  • ฟันมีการขยับเขยื้อนเวลาเคี้ยว
  • มีหนองไหลออกมาจากบริเวณร่องเหงือก
  • มีกลิ่นปาก

 

รักษาเหงือกอักเสบ

        โรคเหงือกอักเสบสามารถรักษาได้ง่ายโดยการเกลารากฟัน  ร่วมกับการพัฒนาวิธีการแปรงฟันและใช้อุปกรณ์เสริมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสะสมใหม่ของคราบจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรค  โดยสำหรับคนส่วนใหญ่ควรได้รับการขูดหินน้ำลายทุก ๆ 6 – 12 เดือน

                                                                                         

 

Visitors: 41,250