ฟันคุดและฟันฝัง

ฟันคุดเป็นยังไง เกิดจากอะไร

ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาในตำแหน่งที่ปกติได้ หรือโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วนเนื่องจากมีฟัน เหงือก หรือกระดูกขัดขวางอยู่ โดยฟันที่พบว่าเป็นฟันคุดใหม่ ๆ คือ ฟันกรามใหญ่แท้ซี่ที่สามล่าง (mandibular third molar) ซึ่งโดยปกติฟันซี่นี้จะขึ้นมาในปากในช่วงอายุ 17-25 ปี

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีฟันคุด

เราสามารถรู้ได้จากการสังเกตด้วยตนเอง หรือตรวจช่องปากว่า มีฟันกรามแท้ซี่นี้โผล่พ้นเหงือกออกมาหรือยัง แต่หากฟันกรามยังฝังตัวอยู่ใต้เหงือก หรือไม่สามารถขึ้นพ้นเหงือกได้ ต้องมีการเอ็กซเรย์เพื่อดูว่ามีฟันคุดอยู่หรือไม่ บางครั้งฟันคุดที่กำลังขึ้นอาจทำให้รู้สึกถึงแรงกด หรือปวดบริเวณฟันคุดนั้น ซึ่งหากมีอาการปวดในบริเวณดังกล่าวควรไปพบทันตแพทย์  เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยช่องปากและเอ็กซเรย์ก่อนทำการวางแผนการรักษาต่อไป

ปัญหาและอันตรายที่เกิดจากฟันคุด

มีกลิ่นปากและทำให้ฟันซี่อื่นผุ

ฟันคุดที่ขึ้นมาในลักษณะเอียง จะทำให้มีเศษอาหารที่ติดระหว่างฟันคุดและฟันข้างเคียง ไม่สามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึง เกิดเป็นกลิ่นปาก รวมทั้งฟันผุคือการผุบริเวณซอกฟันข้างเคียงได้

เหงือกอักเสบ

เมื่อฟันคุดงอกขึ้นมาในช่องปากเพียงบางส่วน เหงือกที่ปกคลุมฟันมักมีเศษอาหารไปติดใต้เหงือก ทำความสะอาดได้ยาก จนมีการอักเสบบวมแดง และติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้เหงือกบริเวณนั้นเกิดเป็นหนอง จนเกิดการปวด หากการติดเชื้อลุกลามไปมากขึ้น อาจทำให้เจ็บคอกลืนน้ำลายไม่ได้  มีไข้ อ้าปากได้น้อยลง หรือหายใจลำบาก เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ทำให้ฟันเรียงเก

ขณะที่ฟันคุดกำลังขึ้นจะมีแรงดันต่ออวัยวะรอบๆ รวมทั้งฟันข้างเคียง ทำให้เกิดการเคลื่อนของฟันข้างเคียงหรือเกิดการเรียงตัวที่ซ้อนกันได้

เกิดถุงน้ำหรือเนื้องอกรอบๆ ฟันคุด

ถุงหุ้มรอบฟันคุดหรือเนื้อเยื่อสร้างฟันอื่นๆ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกในขากรรไกรได้  มีผลทำให้ฟันเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งเดิม กระดูกรอบๆ เกิดการกร่อนละลาย  เป็นอันตรายกับเหงือกและฟันใกล้เคียง จนถึงอาจขยายขนาดใหญ่จนใบหน้าผิดรูป มีปัญหาการสบฟันตามมาได้

 

เมื่อไหร่ที่ควรผ่าฟันคุดออก

   ฟันคุดเป็นฟันที่มีเนื้อเยื่อและหรือกระดูกปิดขวางอยู่ ทันตแพทย์จึงไม่สามารถถอนฟันได้ตามปกติ จำเป็นต้องผ่าเหงือก ตัดกระดูก ตัดฟันออกทีละนิด เพื่อนำฟันคุดออก โดยไม่ส่งผลหรือเป็นอันตรายต่อฟันซี่ข้างเคียง หรือส่วนอื่นที่อยู่บริเวณนั้นๆ การผ่าตัดฟันคุดอาจใช้เวลานานกว่าถอนฟันตามปกติ ขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งของฟันคุด รวมทั้งอายุของผู้ป่วย 

การผ่าฟันคุดในช่วงที่ฟันกำลังมีการสร้างรากฟันเสร็จแล้วประมาณครึ่งรากหรือมากกว่านั้น แต่ยังสร้างรากไม่เสร็จสมบูรณ์ มักจะเป็นช่วงที่ผ่าได้ง่ายที่สุดของฟันกรามล่างที่สาม โดยช่วงอายุการเจริญของฟันขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยมากจะเป็นช่วงอายุ 15-20 ปี ทันตแพทย์จึงแนะนำให้มีการตรวจประเมิน วางแผนการรักษาฟันคุด แม้ฟันอาจจะยังไม่ขึ้นมาในช่องปาก ในช่วงอายุดังกล่าว

 

การผ่าฟันฝัง คืออะไร ?

        การผ่าฟันฝัง (Surgical removal of embedded tooth) คือการผ่าตัดขนาดเล็กในช่องปาก โดยการใช้ยาชาเฉพาะตำแหน่ง เพื่อทำการกำจัดฟันฝังออก โดยจะต้องมีการเปิดเหงือก ร่วมกับการกรอกระดูก หรือกรอแบ่งฟันในบางเคส

       “ฟันฝัง” คือฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ตามปกติ โดยอาจจะเป็นฟันเกิน หรือฟันแท้ โดยส่วนมากมักจะเป็นฟันเขี้ยวหรือฟันกรามน้อย ที่ฝังในกระดูก ไม่สามารถขึ้นมาตามธรรมชาติได้

กรณีใด ที่จำเป็นต้องผ่าฟันฝัง ?

  • มีอาการปวด, เหงือกบวม รอบๆ อาจพบว่ามีหนองในกรณีที่มีการติดเชื้อ
  • เอ็กซเรย์แล้วพบว่าฟันฝังอยู่ในแนวเอียง ดันฟันซี่ข้างเคียง ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้ฟันซี่ข้างเคียงผุได้
  • เอ็กซเรย์พบว่า มีถุงน้ำรอบฟันฝัง
  • กรณีจัดฟัน เป็นไปตามแผนการรักษาของทันตแพทย์จัดฟัน

ข้อควรปฏิบัติหลังการผ่าฟันคุดและฟันฝัง

  • ประคบด้วยถุงเย็นทันทีหลังผ่าตัด เพื่อลดอาการบวม
  • ควรกัดผ้าก๊อซแน่นๆ เพื่อห้ามเลือด ให้เปลี่ยนผ้าก๊อซที่สะอาดกัดใหม่จนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  • ห้ามบ้วนน้ำลาย เลือด หรือน้ำ  เพราะจะทำให้ลิ่มเลือดไม่แข็งตัว เลือดไหลไม่หยุด
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ งดอาหารเผ็ด อาหารรสจัด 
  • รับประทานยาตามที่ทันตแพทย์สั่ง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไปรับการผ่าตัดไหมหลังจากผ่าตัดแล้ว 7 วัน
  • อาจมีอาการปวด บวมหรือช้ำในช่วง 3-4 วันต่อมา แต่หลังจากนั้นอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติใน 2 สัปดาห์
Visitors: 41,149