ฟันน้ำนมนั้นสำคัญไฉน
ฟันน้ำนมนั้น…สำคัญอย่างไร
โดยปกติแล้วฟันน้ำนมจะเริ่มหลุดเมื่อเด็กอายุประมาณ 6-7 ปี หลังจากนั้นฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่ คุณพ่อคุณแม่จึงอาจมีความคิดว่า ยังไงฟันน้ำนมก็ต้องหลุดไปจนหมดอยู่ดี ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องปัญหาฟันผุสักเท่าไร แต่แท้จริงแล้ว การดูแลฟันน้ำนมมีความสำคัญไม่แพ้กับการดูแลฟันแท้ของผู้ใหญ่เลยล่ะ
1.ฟันน้ำนมช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร
2.ฟันน้ำนมช่วยในการออกเสียง
3.ฟันน้ำนมช่วยในเรื่องของบุคลิกภาพ
4.ฟันน้ำนมช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกร
5.ฟันน้ำนมช่วยรักษาพื้นที่ให้กับฟันแท้
สาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมผุ
- ปล่อยให้เด็กนอนหลับคาขวดนม
พฤติกรรมนี้จะทำให้น้ำตาลที่อยู่ในนม เข้าไปทำลายเคลือบฟันของเด็กได้ เพราะแบคทีเรียในช่องปากจะย่อยน้ำตาลในนมที่ค้างอยู่บนผิวฟัน ทำให้เกิดการสะสมของกรด และทำการละลายผิวฟันเป็นรูทำให้ฟันผุนั่นเอง
- ปล่อยให้รับประทานตามใจชอบ
การปล่อยให้ลูกรับประทานขนม หรือกินจุบจิบตลอดเวลา จะทำให้ช่องปากมีระยะเวลาที่เป็นกรดนานขึ้น และถ้าปล่อยให้ช่องปากอยู่ในภาวะเป็นกรดนานเท่าไร โอกาสที่จะเกิดฟันผุก็ยิ่งมีมากขึ้นอีกด้วย
- การแปรงฟันที่ไม่ถูกต้อง
แม้จะแปรงฟันครบ 2 ครั้ง แต่ถ้าหากแปรงด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ได้ช่วยทำให้ฟันสะอาดอย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่จึงควรเรียนรู้วิธีการแปรงฟันที่ถูกต้อง
เมื่อไรจึงจะเริ่มแปรงฟัน
สุขภาพช่องปากที่ดีควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยทารก โดยการทำความสะอาดทันทีหลังการดูดนมแต่ละครั้ง วิธีคือประคองศีรษะเด็กไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง ในขณะที่ใช้มืออีกข้างเช็ดปากเด็กด้วยผ้าก๊อซสะอาดชุบน้ำ ผ้าเปียก หรือผ้าเช็ดฟัน ส่วนการแปรงฟันให้เริ่มได้ตั้งแต่ที่มีฟันซี่แรกขึ้น
เทคนิคการแปรงฟันทั่วๆ ไป
- เลือกแปรงสีฟันขนนุ่มที่มีขนาดเหมาะสมกับวัย ถ้าต้องการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ก่อนเด็กจะอายุครบหนึ่งปี ควรปรึกษาทันตแพทย์หรือกุมารแพทย์ก่อน
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ป้ายยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในปริมาณเล็กกว่าขนาดเมล็ดถั่ว และในเด็กอายุ 2-5 ปี ให้ใช้ขนาดเท่าเมล็ดถั่ว ผู้ปกครองควรแปรงฟันให้เด็กเล็กในห้องน้ำ ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็แปรงเป็นตัวอย่างให้เด็กดูด้วย
- ส่วนเด็กอายุ 6-8 ปี ที่สามารถแปรงฟันด้วยตนเองได้แล้ว ผู้ปกครองควรตรวจดูความสะอาดของฟันเด็กอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กแปรงฟันได้สะอาดดีทั่วทั้งช่องปาก
- ควรกระตุ้นให้เด็กแปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง คือตอนเช้าและก่อนนอน ด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม -
- แปรงสีฟันไฟฟ้าสามารถใช้ขัดแผ่นคราบเหนียวๆ ที่เรียกว่าคราบจุลินทรีย์ออกจากฟันและเหงือกได้อย่างนุ่มนวลเช่นกัน
- แปรงสีฟันของเด็กควรเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 3 เดือน หรือเร็วขึ้นเมื่อขนแปรงเริ่มเสียหรือหลุดออก นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันหลังจากเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงการนำเชื้อปัญหากลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง
- เด็กวัยหัดเดิน (อายุน้อยกว่า 2 ปี) ควรบ้วนยาสีฟันออกเท่าที่จะทำได้หลังจากแปรงฟันโดยมีผู้ปกครองชี้แนะ เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้การบ้วน ส่วนเด็กปฐมวัย (อายุ 2-5 ปี) ที่เริ่มใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อนุญาตให้กลั้วน้ำปริมาณน้อยๆ ได้หลังจากแปรงฟัน แต่อย่ากลั้วมากเพื่อให้ฟลูออไรด์ยังคงอยู่ภายในช่องปากช่วยให้เคลือบฟันแข็งแรงและป้องกันฟันผุ
วิธีการแปรงฟันและขัดฟัน
เนื่องจากเด็กอาจยังไม่รู้วิธีการแปรงฟันที่เหมาะสมกับฟันของตนเอง ผู้ปกครองจึงควรให้ความช่วยเหลือ ด้วยการสอนวิธีแปรงฟันและขัดฟันให้เด็กตามขั้นตอนดังนี้
- ขั้นที่ 1: วางแปรงสีฟันขนนุ่มทำมุม 45 องศาบริเวณรอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน
- ขั้นที่ 2: ขยับแปรงสีฟันไปมาในช่วงสั้นๆ เบาๆ ตามแนวฟันและเหงือก แล้วปัดลง (ฟันบน) และปัดขึ้น (ฟันล่าง)
- ขั้นที่ 3: ทำเช่นนี้กับฟันบนและฟันล่าง ทั้งด้านในและด้านนอกจนครบทุกซี่
- ขั้นที่ 4: แปรงลิ้นเพื่อกำจัดแบคทีเรียบนลิ้น
สิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง
ควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือนภายหลังจากฟันซี่แรกขึ้นหรือเด็กอายุครบ 1 ปี ควรสอนวิธีการดูแลช่องปากให้เด็กตั้งแต่อายุยังน้อยจนติดเป็นนิสัยถึงวัยผู้ใหญ่ เริ่มจากการสอนวิธีการแปรงฟันและขัดฟันที่ถูกต้องเหมาะสมคือสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาให้เกิดสุขอนามัยช่องปากที่ดีตลอดไป